ภาวะข้อเสื่อมอักเสบ?

      โรคข้อเสื่อม เป็นความผิดปกติของข้อที่พบได้บ่อยในช่วงเข้าสู่วัยกลางคน และพบได้เพิ่มขึ้นเมื่ออายุมากขึ้นเรื่อยๆ พบบ่อยในตำแหน่งของข้อที่ต้องรับน้ำหนักมากเช่น ข้อเข่า ข้อสะโพก ข้อต่อกระดูกสันหลัง เป็นต้น

สาเหตุของโรค

      เกิดจากการเสื่อมสภาพของกระดูกอ่อน (cartilage) ที่ฉาบผิวกระดูกข้อต่อไว้ไม่ให้มีการเสียดสีกันเมื่อมีการเคลื่อนไหว ซึ่งเมื่อเราเคลื่อนไหวร่างกาย ไม่ว่าจะเป็นการลุก นั่ง ยืน หรือเดิน ข้อต่อจะทำงานสอดประสานกันอย่างต่อเนื่อง แต่เมื่อกระดูกอ่อนผุพัง หรือบางลง กระดูกข้อต่อก็จะเสียดสีกันจนเป็นผลให้เกิดการอักเสบ ซึ่งจะทำให้รู้สึกเจ็บปวดบริเวณข้อต่อจนไม่สามารถเคลื่อนไหวร่างกายได้ตามปกติ และส่งผลต่อการใช้ชีวิตประจำวันอย่างมาก

ปัจจัยเสี่ยงที่ทำให้เกิดโรคข้อเสื่อม ได้แก่

   •  อายุ เมื่ออายุมากขึ้นจะมีโอกาสพบโรคข้อเสื่อมมากขึ้น เนื่องจากมีการสร้างกระดูกอ่อนน้อยลง

   •  น้ำหนักตัวมากเกินไป จะส่งผลให้เกิดแรงกดภายในข้อเพิ่มมากขึ้น

   •  กิจกรรมบางอย่างที่ส่งผลให้ข้อต้องแรงกดดันมากเกินไป หรืออุบัติเหตุจากการเล่นกีฬา

   •  ปัจจัยทางพันธุกรรม

อาการของโรค

      อาการปวด มีลักษณะปวดตื้อๆ ทั่วๆ ไปบริเวณข้อ มักปวดเรื้อรัง อาการปวดจะมากขึ้นเมื่อมีการใช้งาน หรือลงน้ำหนักบนข้อบริเวณนั้นๆ อาการจะทุเลาลงเมื่อพักการใช้งาน เมื่อโรครุนแรงขึ้นจะทำให้มีอาการปวดตลอดเวลา หรือปวดในช่วงเวลากลางคืนร่วมด้วย ข้อฝืด ข้อติด ตึงที่ข้อ พบได้บ่อยมักจะมีการฝืดของข้อในช่วงเช้า และหลังจากพักข้อนานๆ ข้อบวม และผิดรูป อาจพบข้อขาโก่ง ข้อที่บวมเป็นการบวมจากกระดูกงอกโปนบริเวณข้อ สูญเสียการเคลื่อนไหว และการทำงาน ผู้ป่วยมีอาการเดินไม่สะดวก หรือหยิบจับสิ่งของได้ไม่ถนัด มีเสียงดังกรอบแกรบ ในข้อขณะเคลื่อนไหว โดยเฉพาะที่ข้อเข่า

ข้อแนะนำการปฎิบัติตัวสำหรับผู้ที่เป็นโรคข้อเสื่อม

   1. ควบคุมน้ำหนักตัวให้อยู่ในเกณฑ์มาตรฐาน

   2. หลีกเลี่ยงท่าทางที่ต้องใช้ข้อที่เสื่อมมาก เช่น การนั่งยองๆ นั่งขัดสมาธิ นั่งพับเพียบ

   3. หมั่นบริหารกล้ามเนื้อรอบข้อที่เสื่อมอยู่เสมอ